วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การดูแลสุขภาพ





การทำหมัน 
     หากไม่ต้องการให้มีลูกสุนัขเกิดเกินจำนวนที่จะเลี้ยงได้ หรือเพื่อเสี่ยงกับการผสมพันธุ์ในครอกได้ลูกสุนัขผิดลักษณะ ควรทำหมันให้กับสุนัข นอกจากนั้น การทำหมันจะช่วยลดความวุ่นวาย เนื่องจากพฤติกรรมของสุนัขในช่วงฤดูผสมพันธุ์ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

     การทำหมันสุนัขตัวผู้ สามารถกระทำได้เมื่ออายุ 7-8 เดือนขึ้นไป สำหรับตัวเมียควรทำเมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป หรือหลังจากมีประจำเดือนครั้งแรกไปแล้ว 1 เดือน และไม่ควรทำหมัน เมื่อสุนัขมีอายุมากแล้ว



การป้องกันโรค
     ผู้เลี้ยงควรต้องมีเวลาให้กับสุนัข เพื่อทำความคุ้นเคยและศึกษาสุนัขแต่ละตัว ต้องคอยเอาใจใส่สังเกตความเป็นอยู่ การกินอาหาร การเปลี่ยนแปลงต่างๆ นอกจากนี้ควรจะต้องมีความรู้ พื้นฐานเกี่ยวกับสุนัข โรคต่างๆ เมื่อสุนัขเกิดอาการเจ็บป่วยจะได้นำไปรักษาได้ทันที

     โรคที่เกิดกับสุนัขมีหลายชนิด และมักเกิดการระบาดอยู่เสมอทุกปี หลายโรคอาจร้ายแรง  ทำให้สุนัขพิการหรือเสียชีวิต ทั้งอาจติดต่อถึงคนภายในบ้านด้วย การหมั่นเอาใจใสในตัวสุนัขและดูแลสุขภาพทั่วไปของสุนัข  จึงนับเป็นการป้องกันโรคเบื้องต้นที่ดีที่สุด อาการของสุนัขที่เริ่มป่วยสังเกตได้จาก อาการเซื่องซึม ไม่ร่างเริงแจ่มใส ไม่กินอาหาร  หรือกินอาหารน้องลง อาเจียน มีอาการท้องร่วง ท้องผูก ผอมลง  ขนหยาบกระด้าง  ผิวหนังเป็นผื่นแดง  ตาแฉะ  จมูกแห้งหรือมีน้ำมูก หากสุนัขมีอาการดังกล่าว ควรทำการรักษา  หรือนำสุนัขไปหาสัตวแพทย์

     โรคสุนัขหลายโรค สามารถป้องกันได้  โดยการฉีดวัคซีนตามกำหนดเวลาที่เหมาะสม หลังการฉีดวัคซีนควรงดอาบน้ำภายใน 1 สัปดาห์ เพราะสุนัขอาจมีไข้เล็กน้อยจากปฏิกิริยาต่อวัคซีน ดูแลให้สุนัขกินยาตามเวลาที่สัตวแพทย์กำหนด รวมทั้งควรแยกสุนัขตัวที่ป่วยออกจากตัวปกติ สิ่งที่ช่วยให้สุนัขรอดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บได้อีกประการหนึ่ง คือ การรักษาความสะอาด ทั้งของสุนัขและสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย กำจัดเห็บ หมัด ยุง หนู หรือทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์ที่เป็นพาหะเหล่านี้



กำหนดการปฏิบัติ เพื่อป้องกันโรคของสุนัข

  อายุ                         ข้อปฏิบัติ
3 สัปดาห์      ตรวจอุจจารและถ่ายพยาธิ
2 เดือน        ฉีดวัคซีนป้องอกันโรคไข้หัดสุนัข โรคพาร์โวไวรัส เลปโตสไปโรซีส ตับอักเสบติดต่อ
3 เดือน        ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และถ่ายพยาธิ
4 เดือน        ฉีดซ้ำเช่นเดียวกับเมื่ออายุ 2 เดือน
6 เดือน        ตรวจเลือดเพื่อหาโรคพยาธิหนอนหัวใจและตรวจซ้ำทุก 6 เดือน
ทุกปี            พบสัตวแพทย์  เพื่อตรวจสุขภาพทั่วไป  ตรวจอุจจาระและถ่ายพยาธิทุก 6 เดือน
                  และฉีดวัคซีนซ้ำทุกอย่าง

วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การทำคลอดสุนัข




การทำคลอดสุนัข


     กำหนดคลอดของแม่สุนัขอยู่ในราว 60-63 วัน หลังจากการผสมพันธุ์การเตรียมจัดที่คลอด จะต้องทำล่วงหน้า
     การให้ความอบอุ่นแก่ลูกสุนัข ขณะคลอดและหลังคลอด 2-3 วัน นับว่าสำคัญในอนาคตของ ลูกสุนัขมาก ลูกสุนัขได้รับอุณหภูมิจากตัวแม่ ด้วยความร้อน 101.4 องศาฟาเรนไฮ คือ เท่ากับอุณหภูมิของโลกภายนอก ดังนั้นอาหารที่จะให้แม่สุนัขในวันแรกๆ ควรจะต้องเป็นอาหาร ที่ก่อให้เกิดความร้อนในตัวเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องให้อาหารประเภทบำรุงความเติบโตแต่อย่างใด อย่างน้อยอุณหภูมิขณะคลอดและหลังคลอด 48 ชั่วโมง ควรจะเป็น 105 องศาฟาเรนไฮแต่จาก นั้นจะลดน้อยลงเรื่อยจนถึงปลายสัปดาห์แรกลูกสุนัขจะมีอุณหภูมิปกติและมีความสมบูรณ์ ที่คลอดนั้นที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือต้องเป็นที่เงียบ อย่าให้มีสุนัขรบกวนได้



สำหรับที่นอนของลูกสุนัข
     ลูกสุนัขนั้นควรเป็นหีบไม้แข็งแรง กว้างใหญ่พอเหมาะแก่จำนวนลูกสุนัข แต่ถ้าหากเป็นคอกเล็กๆ จะใช้หีบขาตะแคงก็เหมาะดีเหมือนกัน ถ้าใช้ชนิดหีบปิดฝาปิด  จะต้องปิดเปิดได้คล่องๆ



พื้นที่นอนคลอด
     ควรปูด้วยกระสอบที่สะอาด หรือวัตถุอื่น ซึ่งเวลาไม่ต้องการใช้จะได้ ทำลายเสียเลย โดยปกติแม่สุนัขมักจะชอบกัดแทะเครื่องปูนอนเหล่านี้เพื่อปรับปรุงที่นอนของมัน ฉะนั้นควรให้แม่สุนัขคุ้นเคยกับที่นอนของมันสัก 1-2 สัปดาห์ก่อนวันคลอด



การออกกำลังให้สุนัข
     ขณะมีครรภ์นับว่าสำคัญมาก  จะละเลยเสียมิได้  จนกระทั่งถึงสัปดาห์สุดท้าย แม้ตัวมันจะหนักอุ้ยอ้ายสักเพียงไร ก็ควรให้เดินในระยะใกล้ๆ และที่เงียบๆ ควรให้เล่นกับสุนัขอื่นๆ บ้างเป็นครั้งคราว ยิ่งใกล้วันคลอดแม่สุนัขจะเริ่มจัดรังนอนของเขา ด้วยการกัดสิ่งของที่เขาพบอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ฉะนั้นหากจะใช้ผ้าห่มดีๆ แล้วไม่ควรให้เขาในระยะนี้



อาการแสดงว่าจะคลอดนั้นคือ
     ช่องคลอดจะบวมโตและนุ่ม จะมีเมือกลื่นๆ ไหลออกมา สุนัขจะไม่ยอมกินอาหาร และแสดงว่าจะคลอด อาการเช่นนี้จะมาก่อนการคลอดจริงราวๆ 24 ชั่วโมง

     ระยะที่ 2 เมื่อการคลอดจะสำเร็จผล ก็ต่อเมื่อมดลูกทำการบีบรัดตัวและบีบลูกสุนัขให้ผ่านจากช่อง คลอดออกมา ขณะนี้แม่สุนัขจะรู้สึกเจ็บปวดยิ่งขึ้นและร้องครวญคราง อาจเป็นเสียงดังหรือเสียงแหลมเป็นระยะๆ และก็ดังยิ่งขึ้น ในไม่ช้าก็จะมีเมือกลื่นๆ ไหลออกจากช่องคลอด ตามธรรมดาลูกสุนัขจะโผล่หัวและขาหน้าก่อน แต่ก็มีบ่อยที่หางออกก่อน โดยปราศจากความลำบาก เว้นแต่จะเป็นลูกสุนัขนั้นหัวโต การคลอดในลักษณะอย่างนี้จะทำให้เจ็บปวดและยุ่งยาก ขณะที่หัวสุนัขโผล่ออกมา นั้นเองแม่สุนัขจะได้รับความเจ็บปวดและร้องดัง ตามธรรมดาลูกสุนัขขณะคลอดจะถูกหุ้มอยู่ในถุง เยื่อเหนียวๆ ซึ่งแม่สุนัขจะกัดเลีย เพื่อแยกให้ลูกออกมา แต่ถ้าหากมันทำเองไม่สำเร็จ ผู้พยาบาลต้องคอยช่วยเหลือเขาทันที มิฉะนั้นลูกสุนัขจะตาย

     ลูกสุนัขขณะคลอดออกมา  จะยังคงถูกล่ามกับแม่ของเขาโดยสายสะดือ ซึ่งติดต่อไปยังรก และรกนี้ก็ออกมาจากช่องคลอดของแม่สุนัข หลังจากลูกสุนัขได้คลอดออกมาแล้ว รกนี้แม่สุนัขจะกินทันที และขบไต่ไปตามสายสะดือ จนกระทั่งเกือบถึงสะดือของลูกสุนัข ถ้าหากแม่สุนัขไม่ทำเช่นนั้นผู้พยาบาล จะต้องรีบตัดสายสะดือ  ให้ห่างสายสะดือของลูกสุนัข 1 คืบด้วยกรรไกรที่สะอาด แล้วมัดด้วยด้าย เหนียวๆ สายสะดือที่แห้งจะหลุดออกมาพร้อมกับด้ายที่มัดภายในไม่กี่วัน

     ต่อจากนั้นแม่สุนัขก็จะเข้าเลียลูกของเขาให้แห้ง และในขณะนี้เอง ลูกสุนัขตัวที่อยู่ในท้องก็จะ เคลื่อนออกมา แม่สุนัขก็จะจัดการกับลูกสุนัขเช่นเดียวกับวิธีการที่กล่าวมาแล้ว  จนกระทั่งคลอดเป็นตัวสุดท้าย บางครั้งลูกสุนัขคลอดมาเร็วมาก แม่สุนัขไม่ทันที่จะมีเวลาเลียลูกตัวที่ออกก่อนให้แห้ง ถ้าเป็นเช่นนี้ ผู้พยาบาลต้องใช้ผ้าเช็ดตัวอุ่นๆ เช็ดให้แห้ง  แล้วนำไปไว้เสียอีกมุมหนึ่ง อย่างไรก็ดีจะปล่อยให้ลูกสุนัขให้เปียกชื้นและหนาวสั่นย่อมเป็นอันตราย ระหว่างคลอดหากแม่สุนัขแสดงอาการอ่อนเพลีย ควรจะให้นมอุ่นๆ แก่แม่สุนัขสักหน่อย ในระหว่างที่คลอดลูกยังไม่หมด และเมื่อคลอดหมดแล้ว ก็ควรให้ต่อไปอีกสักถ้วย  แล้วจึงปล่อยให้แม่สุนัขนอนกับลูกสัก 1-2 ชั่วโมง หลังจากนี้จึงควร ให้ทั้งลูกและแม่สุนัขขึ้นนอนในที่ๆ มีความอบอุ่นและสงบเงียบ



การดูแลบำรุงเลี้ยง
     สัก 2-3 ชั่วโมงต่อมา แม่สุนัขก็จะออกจากที่นอนมาถ่ายมูล ขณะนี้ควรให้อาหารน้ำอุ่นๆ แก่แม่สุนัข ขณะนี้ แม่สุนัขย่อมอยู่ในอาการที่ธาตุไม่ปกติ ในระหว่างที่ต้องทำการคลอดลูก และถ้าหากมันกินรกเข้าไปด้วย นักเพาะเลี้ยงสุนัขบางท่าน ไม่ยอมให้แม่สุนัขกินรกหรือเครื่องในของเขาเอง แต่ก็ต้องถือว่าเป็นสัญชาตญาณของสัตว์อย่างหนึ่ง แต่ในการที่เขาได้กินอวัยวะภายในสดๆ ของตัวเขาเองเข้าไปเช่นนั้นก็ย่อมได้ รับฮอร์โมนหรือน้ำสกัดของชีวิต



การดูแลภายหลังการคลอด
     หลังการคลอดสัก 2-3 ชั่วโมง แม่สุนัขควรได้รับการเอาใจ และควรให้ได้กินอาหารเหลวๆ อุ่นๆ ถ้าเขากินรกเข้าไป  ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เอง  ที่ท้องของเขาจะไม่เป็นปกติในระหว่าง 2-3 วันแรกหลังการคลอด มูลที่ถ่ายออกมาจะมีสีดำคล้ายน้ำมันดิน ทั้งนี้เนื่องจากโลหิตที่กินเข้าไป ในระยะวันหรือสองวันแรก ควรสังเกตแม่สุนัขให้ดี เพราะว่าลูกสุนัขยังค้างอยู่ในท้องหรือไม่ ตามที่ทราบกันมาอาจเป็นเช่นนั้นได้ ถ้าหากเป็นเช่นนั้น  ก็จะสังเกตได้ว่าแม่สุนัขจะพยายามเบ่งเหมือนเมื่อทำการคลอดใหม่ๆ ในกรณีเช่น นี้ให้ไปตามสัตวแพทย์มาทำการผ่าตัดโดยด่วน ผู้ที่มีความชำนาญอาจใช้นิ้วมือที่ชุบยาฆ่าเชื้อ  แล้วล้วง เข้าไปในช่องคลอด  เพื่อทำการตรวจสอบอย่างระมัดระวัง หากเห็นว่ามีอะไรผิดปกติจะเรียกสัตวแพทย์ มาทำการผ่าตัดโดยไม่ชักช้า บางทีอาจมีอุปสรรคอันร้ายแรง  เนื่องจากตำแหน่งที่ลูกสุนัขติดอยู่นั้นจำ เป็นต้องทำการผ่าตัดเอาออกทันที ในกรณีนี้ การชักช้าอยู่นานเท่าไร  ก็เป็นอันตรายมากเท่านั้น เป็นธรรมดาที่แม่สุนัขจะมีโลหิตออกมาเปื้อนเปรอะอยู่เป็นเวลาหลายวันหลังการคลอดแล้ว มันจะค่อยๆ จางลงๆ และจะหยุดในปลายสัปดาห์ที่ หรือ 2 ตามธรรมดาอุณหภูมิ (ปรอท) จะขึ้นสูงหนึ่งดีกรีหรือ ราวๆ นั้นหลังคลอดแล้วเขาควรจะกลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติในราว 8 ชั่วโมง ต่อมาถ้ามีไข้ขึ้นสูงก็จะแสดง ให้ทราบว่า มีอะไรผิดปกติและต้องคอยตรวจสอบดูแลโดยไม่ชักช้า



การคลอดผิดปกติ
     คำแนะนำที่ดีที่สุดสำหรับการคลอดที่ไม่ปกติ  ผิดไปจากธรรมดา  ก็ควรพบให้สัตวแพทย์ช่วยโดยด่วน ความลำบากในการคลอด  อาจเป็นด้วยว่าลูกสุนัขอยู่ในท่าผิดปกติ  เนื่องจากความอ่อนแอ การหดตัวของมดลูก หรือรูปร่างของแม่สุนัขผิดส่วนสัด และอาการเหล่านี้ผู้สมัครเล่น  ไม่อาจจะแก้ให้หายได้ การกระทำง่ายๆ บางทีอาจจะทำให้ลูกสุนัขออกมาได้  แต่อย่างไรก็ดีในเรื่องนี้จำเป็นต้องมีความรู้ เกี่ยวกับกายวิภาควิทยา  และมีความชำนาญในการตรวจรู้ได้ว่าอะไรผิดปกติ  และสามารถแก้ไขให้ดีได้ หลักสำคัญยิ่งในการคลอด  ก็คือให้ตามสัตวแพทย์ ถ้าแม่สุนัขทำการเบ่งจนอ่อนกำลังลง (มีอาการ หอบเบ่ง) มาเป็นเวลาถึง 3  ชั่วโมงแล้ว ลูกสุนัขยังไม่ออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าถุงเยื่อหุ้มโผล่มา และแตกไปแล้ว อาการเช่นนี้  ควรจัดการโดยด่วน  ไม่ว่าเป็นการคลอดลูกสุนัขตัวแรก  หรือตัวอื่นถัดไปก็ตาม การทอดระยะออกของลูกสุนัขจะห่างกันราว 15 ถึง 30 นาที  แต่อาจจะออกถี่กว่านี้ก็ได้ การดูแลระหว่างคลอด ควรจะสังเกตุดูด้วยความเอาใจใส่เป็นอย่างดี  ถ้าผิดปกติควรให้ไปตามหมอสัตวแพทย์ทันที ซึ่งเป็นหนทางที่ดีที่สุด  ในการที่จะหลีกเลี่ยงการสูญเสียแม่สุนัขที่ดีไป

วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เทคนิคการให้นมลูกสุนัข






วิธีการให้นม
     ควรป้อนนม โดยใช้ขวดนมแก่ลูกสัตว์กำพร้า ขวดที่เหมาะสมสำหรับลูกสุนัข ควรเป็นขวดขนาด 2 ออนซ์ รูที่หัวนมควรมีขนาดใหญ่ พอที่จะให้น้ำนมไหลผ่านไปอย่างช้าๆ เพื่อให้ได้รับอย่างเต็มที่ ลูกสุนัขที่มีอายุมากขึ้น ขนาดตัวโตขึ้น ควรเปลี่ยนไปใช้ขวด 4 ออนซ์ ที่หยอดตาหรือหลอดฉีดยาปลายทื่อ จะใช้ได้ดีกรณีที่ลูกสัตว์กำพร้านั้นมีขนาดเล็กมากๆ หรืออ่อนแอเกินกว่าจะให้นมออกจากขวด  ในขณะที่หัวนมยังอยู่ในปาก ลูกสัตว์เนื่องจากจะทำให้น้ำนมเข้าปอด ซึ่งมีผลให้เกิดปอดบวมหรือตายได้



     การให้นมลูกสัตว์กำพร้า  โดยทางสายยางจะสะดวกและรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ต้องให้นมลูกสัตว์พร้อมกันทีละหลายตัว แต่อย่างไรก็ตามการวางสายยางไม่ถูกตำแหน่ง การใช้ผิดวิธี  หรือการให้นมเร็วเกินไป  ก็อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือตายได้ ดังนั้นก่อนที่จะทำการให้นมลูกสุนัขกำพร้า โดยใช้สายยาง  จึงควรฝึกการใช้อย่างถูกวิธีให้มีประสบการณ์ก่อน

การจัดการให้นม


     อุปกรณ์ทุกชนิดที่ใช้ในการให้นม  จะต้องคำนึงถึงเรื่องความสะอาดเป็นพิเศษ ต้องอุ่นนมก่อนทุกครั้ง  การให้นมเย็นๆ แก่ลูกสัตว์กำพร้า  อาจทำให้อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลงจนถึงจุดวิกฤต

     ลูกสุนัขกำพร้าในช่วงอายุสัปดาห์แรก (น้ำหนักประมาณ 200-300 กรัม) อาจให้น้ำนมทดแทนประมาณ 10 มิลลิลิตร (2/3-3/4 ช้อนโต๊ะ) สำหรับการให้ครั้งแรก

      สำหรับการให้ครั้งแรก ลูกสัตว์ที่ได้รับนมโดยทางขวดนมจะปฏิเสธหัวนมเมื่ออิ่ม ผู้มีประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกสัตว์กำพร้าส่วนใหญ่  มักนิยมอุ้มลูกสัตว์ในขณะที่ป้อนนม โดยยกหัวของลูกสัตว์สูงขึ้น และยืดอกเล็กน้อย  ในขณะที่อุ้มสัตว์ไว้ในอุ้งมือ ควรส่งหัวนมเข้าปากลูกสัตว์  แล้วยกขึ้นดึงกลับเล็กน้อย การทำเช่นนี้จะช่วยยกหัวสัตว์ขึ้นและทำให้ลูกสัตว์ดูดนมได้ดีขึ้น ถ้าระหว่างการให้นมมีน้ำนมไหลออกมาทางจมูกควรลดอัตราเร็วของการให้นมลง ถ้ายังไม่หายควรตรวจดูช่องปาก เพื่อดูว่ามีเพดานปากโหว่ (Cleft Palate) หรือไม่



     สำหรับการเลี้ยงดูลูกสัตว์กำพร่าในช่วงสัปดาห์แรกของชีวิต ปริมาณนี้นมทดแทนที่ให้ในแต่ละวัน ไม่ควรเกิน 10% ของน้ำหนักตัวใน 2-3 วันแรก การให้ในครั้งที่ 2 และ3 ควรมีปริมารณน้ำนมเท่ากับที่ให้ในครั้งแรกจากนั้นปรับตามวิจารณญาณและความเหมาะสม ลูกสัตว์ที่มีอายุมากกว่าหรือพันธุ์ใหญ่อาจพิจารณาเพิ่ม ปริมาณน้ำนมให้มากขึ้นได้  ถ้าลูกสัตว์นั้นกินนมได้ดีในครั้งแรกๆ และมีการทำงานของลำไส้ปกติ

     เนื่องจากลูกสัตว์กำพร้าจะต้องมีการปรับระบบการย่อยอาหาร ให้คุ้นกับน้ำนมทดแทน ดังนั้นการให้น้ำนมทดแทนในปริมาณที่น้อยกว่าปริมาณที่ลูกสัตว์ต้องการ จึงเป็นการดีกว่าการให้เกินปริมาณที่ต้องการในช่วงอายุ 2-3 วันแรก


ความถี่ของการให้นม
     ควรให้นมแก่ลูกสุนัข วันละ 4 ครั้ง ที่เหมาะสมที่สุดควรห่างกันครั้งละ 6 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ การให้นมเมื่อเวลา 8.00 น. ,11.30 น., 15.30 น. และ 21.00 น. ก็ใช้ได้ผลดีเช่นกัน จะเป็นการดี  ถ้าให้นมปริมาณน้อยในแต่ละครั้งแต่ให้บ่อยๆ อย่างไรก็ตามพึงระลึกไว้เสมอว่า ลูกสัตว์เกิดใหม่ต้องการนอนเป็นเวลานาน ดังนั้นการปลุกลูกสัตว์ขึ้นมาให้อาหาร  จะทำให้ลูกสัตว์เครียด  เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา และไม่พึงกระทำ และจะต้องเพิ่มนมให้ในกรณีที่ลูกสัตว์ไม่ยอมนอน กระวนกระวายส่งเสียงร้อง
ปริมาณน้ำนมที่เพิ่มให้ควรเป็น 1 มิลลิลิตร ต่อการให้ในแต่ละครั้ง  โดยเริ่มเพิ่มให้หลังจากให้ครั้งแรกแล้ว 36-48 ชั่วโมง หรืออีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลคือ อาจให้เพิ่มขึ้น 3 มิลลิลิตร (1/2-3/4 ช้อนชา) วันเว้นวัน สำหรับลูกแมวในอัตราเร็วของการเพิ่มควรช้ากว่าลูกสุนัข โดยอาจเพิ่ม 1 มิลลิลิตร ต่อวันหรือ 2 มิลลิลิตรวันเว้นวัน ปริมาณที่เพิ่มให้นี้จะใช้เป็นเกณฑ์ตราบเท่าที่ลูกสัตว์กินนมตามต้องการและอิ่มพอดี ถ้าเพิ่มถึงจุดที่ลูกสัตว์กินนมไม่หมด ควรคงระดับน้ำนมไว้ที่ปริมาณนี้ 1-2 วัน


     การที่ลูกสัตว์มีน้ำหนักตัวลดลงในช่วงการให้นมทดแทน 2-3 วันแรก ถือเป็นเรื่องปกติ การเปลี่ยนสูตรส่วนผสมหรือการเพิ่มปริมารณน้ำนมคราวละมากๆ ควรค่อยๆ เปลี่ยนโดยใช้เวลา 3-4 วัน โดยเพิ่มปริมาณน้ำนมขึ้น 25% ทุกๆ วัน


อัตราการเพิ่มน้ำหนัก
     อย่างน้อยที่สุดในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของชีวิต ควรมีการชั่งและจดบันทึกน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ในช่วง 5 เดือนแรกลูกสุนัข  ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 100-200 กรัมต่อวัน

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การให้อาหาร




การให้อาหารลูกสุนัข

หลักปฏิบัติที่ถูกต้องสำหรับการให้อาหารแก่ลูกสุนัข
     ลูกสุนัขที่เกิดใหม่ ยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในเรื่องของอาหารการกิน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดื่มน้ำนมจากแม่ไปก่อนในช่วงแรกๆ และเราผู้เป็นเจ้าของควรได้มีโอกาสดูแลเพิ่มเติม เพื่อให้ลูกสุนัขที่เกิดออกมามีชีวิตรอด และสมบูรณ์ปลอดภัย จะต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด


     ลูกสุนัขที่อยู่ในระหว่างกินนมแม่ และหลังหย่านมใหม่ๆ เป็นช่วงที่ลูกสุนัขต้องการโปรตีนสูงมาก อายุจากแรกเกิดถึง 1 เดือน โปรตีนได้จากน้ำนมแม่ แต่หลังจาก 1 เดือนไปแล้ว แม่สุนัขจะแสดงอาการเกรี้ยวกราดขู่คำราม เมื่อลูกของมันจะกินนม ช่วงนี้เราจะต้องให้ลูกสุนัขได้อาหารจากจานใส่อาหารแทน กล่าวคือหลังจากที่ลูกสุนัขได้คลอดออกมาสู่โลกภายนอกใหม่ๆ จะยังไม่ลืมตา แต่จะใช้จมูกนำทางและตะเกียกตะกายหาเต้านมดูดเอง ดังนั้นเพื่อให้ลูกสุนัขได้รับน้ำนมเหลืองจากแม่เร็วขึ้น ควรช่วยจับลูกสุนัขใส่เต้านมแม่ ต่อไปลูกสุนัขจะหาเต้านมกินได้เอง จากระยะนี้ต่อไปผู้เลี้ยงเพียงแต่คอยระวังอย่าให้แม่สุนัขทับลูก และคอยดูแลให้ลูกสุนัขที่อ่อนแอได้มีโอกาสกินน้ำนมแม่อิ่มเท่านั้น เพราะลูกสุนขที่แข็งแรงกว่ามากจะแย่งเต้านมและดูดกินหมดก่อนเสมอ

     สำหรับลูกสุนัขที่มีขนาดครอกใหญ่ คือ มีจำนวนมากเกินไป น้ำนมแม่มีไม่พอให้กิน ควรเพิ่มน้ำนมโคให้กินทดแทน เพื่อป้องกันไม่ให้แม่สุนัขมีสุขภาพทรุดโทรมลงมาก โดยให้กินน้ำนมโคทดแทน เมื่อลูกสุนัขมีอายุได้ 3 สัปดาห์ วิธีหัดให้ลูกสุนัขกินน้ำนมนี้ ก็โดยใส่น้ำนมไว้ในจานปากกว้างและตื้นๆ แล้วจับลูกสุนัขให้ปากจุ่มลงในน้ำนม ลูกสุนัขจะเลียและกินได้เอง  แต่ถ้าแม่สุนขไม่มีน้ำนมหรือเต้านมอักเสบเป็นโรคไม่สามารถให้ลูกกินนมได้ อาจนำลูกไปฝากแม่สุนัขตัวอื่นได้

     ควรหย่านมเมื่อลูกสุนัขมีอายุได้ประมาณ 4 - 6 สัปดาห์ หรือ 1 เดือนขึ้นไปอย่างน้อย การหัดให้ลูกสุนัขหย่านมนี้  อาจทำได้โดยการให้อาหารทดแทน ซึ่งผสมได้โดยใช้น้ำนมอุ่นๆ 1 ถ้วย ผสมกับน้ำหวาน 1 ช้อน และน้ำอุ่น 1 ถ้วย ใส่อาหารผสมนี้ในจานปากกว้างและตื้นๆ และหัดให้ลูกสุนัขกิน  โดยจับหัวลูกสุนัขให้ปากจุ่มลงในจานอาหาร ลูกสุนัขจะเลียและเริ่มกินได้เอง ต่อมาก็ให้อาหารอื่น เช่น เนื้อ เนื้อปลา ลูกชิ้น และไข่ เป็นต้น เพิ่มลงไปในอาหารผสมทีละน้อย จนกระทั่งกินอาหารนี้ได้โดยไม่ต้องมีน้ำนม

     ในระหว่างการหัดให้หย่านมนี้  ควรแยกแม่ออกจากลูกสุนัข และให้ลูกสุนัขกินนมห่างขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับให้อาหารดังกล่าวเสริมทดแทน จนกระทั่งไม่ต้องกินนมแม่อีกต่อไป ครั้นเมื่อมีอายุ ได้ 4 สัปดาห์ก็ให้ทำการถ่ายพยาธิเสีย และเมื่อมีอายุได้ 5 - 6 เดือนขึ้นไปก็ให้กินอาหารประมาณ 3.5 % ของน้ำหนักตัว ควรให้อาหารวันละ 3 เวลา ประมาณ 3 เดือน แล้วจึงค่อยลดลงให้เหลือวันละ 2 เวลา สำหรับสุนัขที่มีอายุ 8 - 9 เดือนเต็ม

วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การเลี้ยงดูสุนัขชิห์สุ ตอนที่ 2





วิธีการเลี้ยงดูสุนัขชิห์สุ


หมาท้อง
     อาหารที่เลี้ยงหมาที่กำลังตั้งท้องนั้นจะต้องมีคุณภาพสูง โปรตีนมาก ไขมันน้อย ขนาดและปริมาณที่ให้ในระยะ 6 อาทิตย์แรกของการตั้งท้องพอๆ กับใช้เลี้ยงดูหมาใหญ่ หรือหมาโตเต็มวัย ในประจำวัน แต่เราจะเพิ่มปริมาณอาหารให้มากขึ้นตามน้ำหนักตัวหมาในระยะ 3 อาทิตย์สุดท้ายก่อนคลอดคือ เพิ่มอาหารให้ปริมาณ 15-20 % ของน้ำหนักตัวแม่หมา
     ก่อนคลอด 1 - 2 วัน แม่หมาบางตัวมักไม่ค่อยกินอาหารหรือไม่กินเลย เพราะมัวแต่หาสถานที่คลอดลูก โดยเฉพาะแม่หมาสาวท้องแรก ฉะนั้นอย่าตกใจจนเกินไป หลังคลอดแล้วก็จะกินอาหารเอง ข้อพึงระวัง อย่าขุนมหาจนอ้วนเกินไปจนไม่มีแรงในการเบ่งคลอดลูก



หมาแม่ลูกอ่อน
     อาหารที่ใช้เลี้ยงหมาแม่ลูกอ่อนไม่ได้มีให้เฉพาะแม่หมาเท่านั้น มันต้องถ่ายทอดไปยังลูกหมาด้วย โดยการเปลี่ยนเป็นนม ฉะนั้นปริมาณอาหารที่แม่หมาจะกินต้องเพิ่มขึ้นโดยอาทิตย์แรกเพิ่มเท่าครึ่งจากปกติ อาทิตย์ที่ 2 เป็น 2เท่า และอาทิตย์ที่ 3 เป็น 3 เท่า

     สิ่งที่ต้องเสริมเพิ่มเติมแก่แม่หมาได้แก่ แร่ธาตุ คือ แคลเซียม และฟอสฟอรัส เพราะสิ่งเหล่านี้จะถูกแตกออกไปนมแม่สู่ลูกๆ ของมันในขณะเดียวกัน แม่หมาจึงมีปริมาณแคลเซียมที่ลดลงด้วย จนถึงระดับที่เกิดขาดแร่ธาตุที่เราเรียกว่า ภาวะแคลเซียมต่ำ แม่หมาแสดงอาการชัก เกร็ง น้ำลายไหลยืด ตัวร้อนจัด ฝรั่งเรียกว่า Milk Fever หรือไข้น้ำนม เมื่อเจ้าของพาไปหาหมอ หมอจึงฉีดแคลเซียมให้ อาการจะทุเลาลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ทางที่ดีควรมีการป้องกันไว้โดยการเพิ่มเติมแคลเซียมลงไปในอาหารแม่ลูกอ่อน ตามคำแนะนำของหมอ พร้อมกับให้จากแหล่งอาหารธรรมชาติ คือ นม ซึ่งจะเป็นการป้องกันปัญหาดังกล่าวได้ดี


การเลี้ยงดูสุนัขขณะที่เป็นลูกสุนัข
     ลูกหมาไทยที่จะนำมาเลี้ยงนั้นควรมีอายุ 2 เดือน หรือหย่านมแล้ว หรือถ้าโตกว่านี้ก็จะยิ่งเลี้ยงง่ายขึ้น เมื่อนำสุนัขเข้ามาอยู่ที่แห่งใหม่วันแรก ถ้าบ้านเลี้ยงสุนัขอยู่แล้วก็ควรให้สุนัขได้รู้จักกับสุนัขที่มีอยู่เดิมและให้สุนัขรู้จักสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างไปจากที่เดิม เพื่อให้คุ้นเคยกับที่อยู่ใหม่ เพราะนิสัยสุนัขจะอยากรู้อยากเห็นสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ มาก จึงควรปล่อยให้สุนัขเดินสำรวจสถานที่หรือสิ่งต่างๆ ตามลำพัง จะทำให้มันรู้สึกว่า สถานที่ใหม่เป็นสถานที่ที่อบอุ่นปลอดภัย ไม่น่ากลัวใดๆ แต่สำหรับลุกสุนัขเล็กๆ บางตัวเมื่อเข้ามาอยู่ใหม่ จะมีปัญหาบ้าง เช่นมันจะหอนเพราะคิดถึงแม่และพี่น้องที่เคยเล่นกันมา เมื่อหิวก็หอน อาจทำให้รำคาญ เพราะหนวกหู วิธีการแก้ปัญหาลูกสุนัขหอน อาจนำสิ่งของที่ปูนอนในรังเก่าของลูกสุนัขมารองให้นอนในที่อยู่ใหม่ด้วย เพราะลูกสุนัขจะจำกลิ่นได้ และเข้าใจว่ายังอยู่ที่เดิม หรืออาจเลี้ยงสุนัข 2 ตัวอยู่ด้วยกัน เมื่อมีเพื่อนเล่นมันจะไม่เหงาและไม่ค่อยหอน
     โดยทั่วไปลูกสุนัขตอนเล็กๆ นิสัยเหมือนเด็ก จะชอบนอน ตื่นขึ้นมารู้สึก หิวก็ร้อง อิ่มก็นอน แล้วก็เล่น เมื่อโตขึ้นก็จะนอนน้อยลง ชอบตื่นขึ้นมากินและเล่นมากขึ้น จากนั้นก็จะคุ้นเคยกับความเป็นอยู่และสถานที่ใหม่
     ลูกสุนัขเมื่ออายุได้ 4-5 เดือน ก็เริ่มถ่ายขนขนจะหยาบกว่าเดิม ฟันน้ำนมก็จะเปลี่ยนเป็นฟันแท้ มีเขี้ยวขึ้นทั้ง 4 เขี้ยว ทำให้คันปาก จึงชอบแทะสิ่งต่างๆ ในบ้าน ถ้าสุนัขกัดสิ่งของในบ้านควรทำโทษ เพื่อให้เข็ดหลาบไม่ติดเป็นนิสัยควรหาของเล่น เช่น ลูกบอลเล็กๆ กัดแทะแทน ลุกสุนัขอายุ 4-6 เดือนจะชอบเล่นแทะ และซุกวนมาก กินอาหารเก่งอยากรู้อยากเห็นพออายุ 7-8 เดือน ก็จะเริ่มเข้าสู่วันหนุ่มสาว ถ้าเป็นตัวเมียก็จะเริ่มเป็นสัด ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ อย่าให้ผสมพันธุ์กันในวัยนี้ อาจทำให้มันเสีย ถ้าจะให้ผสมพันธุ์ควรผลสมเมื่อมีอายุประมาณ 12-18 เดือนจะเหมาะสมมากกว่า



หมาโต
   ในวัยนี้เราสามารถให้อาหารสำเร็จรูปที่มีขายตามท้องตลาดได้แล้ว ซึ่งอาหารสำเร็จรูปที่นิยมมี 2 แบบ คือ
     อาหารแห้ง ส่วนใหญ่จะมีความชื้นต่ำมากคือ ไม่เกิน 10 % มักอัดอยู่ในรูปเม็ดทรงต่างๆ กัน ทำมาจากวัตถุดิบ คือ เนื้อวัว ม้า ไก่ หรือปลาป่น ฯลฯ บรรจุกล่องกระดาษ

     อาหารเปียก มีความชื้นสูงประมาณ 65-70 % ทำมาจากเนื้อวัว เนื้อม้า และเนื้อปลา ยังคงมีรูปร่างเป็นก้อนเนื้อให้เห็น บรรจุกระป๋อง จะน่ากินกว่าแบบแห้ง
ทั้งสอแบบสามารถเทใส่ภาชนะให้สุนัขกินได้ทันที แต่หมาจะกินหรือไม่นั้นอีกเรื่องหนึ่งเพราะหมาบางตัวไม่ยอมรับอาหารเหล่านี้ จะเป็นเพราะกลิ่นหรือรสหรือความแข็งกระด้างก็เป็นได้ ดังนั้นจึงต้องมีการฝึกหัดให้กินก่อน โดยการหลอกล่อด้วยเล่ห์กล กล่าวคืออาจผสมอาหารสำเร็จรูปจำนวนเล็กน้อยลงในอาหารสำเร็จขึ้นไปทีละน้อย ทำบ่อยๆ จนในที่สุดหมาตัวนั้น สามารถกินอาหารสำเร็จรูปล้วนๆ ผู้เลี้ยงบางคนอาจว่าวิธีนี้ไม่ทันใจ ใช้วิธีเผด็จการ กินก็กิน ไม่กินก็อด จะอดได้ไม่นาน สุดท้ายก็ยอมกิน แต่ควรระวังจะเจอตัวที่ยอมอดเป็นอดตายเข้าจริงๆ


หมาสูงอายุ
   หมาสูงอายุจะมีร่างกายที่เริ่มเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา ดังนั้นการให้อาหารจึงควรที่จะให้ตามความเหมาะสมของวัยของสุนัข ซึ่งควรมีลักษณะเป็นอาหารที่ย่อยง่าย เช่นเนื้อที่ไม่มีพังพืด อาหารที่มีไขมันน้อย อาหารที่มีโปรตีนสูง เพื่อที่จะได้ไปเสริมสร้างส่วนที่สึกหรอ ปริมาณที่ให้ก็ไม่ควรมากเกินไปเนื่องจาก หมาวัยนี้จะไม่กระฉับกระเฉง การวิ่งออกกำลังกายก็น้อยลงตามอายุ ฉะนั้นอาหารที่กินเข้าไปมากๆ นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้วยังก่อให้เกิดโทษ เช่น ท้องอืด แน่นเฟ้อ

     อนึ่ง หมาที่แก่มากๆ อัตราการกินอาหารย่อมต่ำลงเป็นธรรมดา บางครั้งอาจกินวันละเพียงเล็กน้อย หรือกินบ้างไม่กินบ้างเจ้าของอาจให้อาหารเสริมเช่น อาหารสำเร็จรูป น้ำซุปและวิตามินต่างๆ เป็นการช่วยกระตุ้นความอยากอาหารและความแข็งแรงของร่างกายอีกทางหนึ่ง

วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การเลี้ยงดูสุนัขชิห์สุ ตอนที่ 1





ความพร้อมในการเลี้ยงสุนัข

1. ความพร้อมของสถานที่ การเลี้ยงสุนัขต้องมีสถานที่ หรือบริเวณสำหรับให้สุนัขวิ่งเล่นออกกำลังกายบ้าง อย่าปล่อยให้สุนัขอยู่ในที่แคบ สิ่งแวดล้อมไม่ดี มันจะรู้สึกซึมและส่งเสียงคราง อุปนิสัยผิดไป ดังนั้นผู้เลี้ยงสุนัขควรคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสถานที่ให้พอเหมาะกับสุนัขด้วย

2. ความพร้อมของผู้เลี้ยง ผู้เลี้ยงควรสำรวจตัวเองเสียก่อนว่าชีวิตความเป็นอยู่เป็นอย่างไร และมีเวลาให้กับสุนัขหรือไม่ เช่น ถ้าสถานที่แคบไม่มีบริเวณที่จะปล่อยให้สุนัขวิ่งเล่น แต่อยากจะเลี้ยงสุนัขมากจึงขังกรงเอาไว้ ก็จะไม่ได้อะไรขึ้นมา ผู้เลี้ยงจะได้รับเพียงเสียงเห่าที่หนวกหูเท่านั้น ผู้เลี้ยงต้อยมีเวลาพามันออกกำลังวิ่งเล่นบ้าง คอยฝึกสอนบางสิ่งบางอย่างที่เป็นพื้นฐานต่างๆ ให้สุนัข จะทำให้สุนัขที่เลี้ยงมีคุณค่ามากขึ้น เช่นการนั่งคอย การไหว้ ไม่ขโมยอาหารและกินมูมมาม

3. ความรัก การเลี้ยงดูสุนัขต้องมีความรัก ความจริงใจและเสมอต้นเสมอปลายด้วย เพราะบางคนนำสุนัขมาเลี้ยงขณะที่ยังเป็นลูกสุนัข มีความน่ารักขนปุกปุย ขี้เล่น แต่พอสุนัขโตขึ้นความน่ารักดังกล่าวก็จะค่อยๆ หายไป นิสัยใจคอเปลี่ยนไป รูปร่างขนที่ปุกปุยก็จะหยาบ ขายาว ตัวโตขึ้น หมดความน่ารักลง ทำให้ไม่อยากเอาใจใส่และไม่เล่นกับมัน แต่สุนัขไม่มีความเข้าใจในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงนี้ยังคงทำในสิ่งที่เคยทำ เช่น อยากจะให้อุ้ม แล้วตะกุยตะกายให้อุ้ม แต่เรามักไม่เข้าใจก็ทำโทษมันด้วยความโมโหและรำคาญที่ถูกเล็บข่วนเป็นเป็นแผล หรือทำให้เสื้อผ้าสกปรก จึงทำโทษด้วยการดุหรือเฆี่ยนตี ทำให้สุนัขเข็ดกลัวไม่อยากเข้าใกล้ หรือคอยหลบๆ ซ่อนๆ ทำให้สุนัขที่เคยน่ารักหมดคุณค่าไป

4. ความเอาใจใส่ในชีวิตประจำวัน เมื่อสุนัขเกิดอาการไม่สบาย มันไม่สามารถบอกเล่าอาการต่างๆ ได้เหมือนคน จึงต้อยคอยสังเกต เอาใจใส่ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้สุนัขมีความเป็นอยู่ที่ดี นอกเหนือไปจากการให้อาหารและน้ำดื่มที่สะอาดแล้ว ต้องคอยสังเกตว่าสุนัขมีสุขภาพอย่างไร ในเรื่องของการขับถ่าย ท้องเสียหรือไม่ มีกิริยาท่าทางร่าเริงหรือหงอย ซึม ไม่สบาย มีแปล มีเห็บหมัดรบกวนหรือไม่ หากพบสิ่งผิดปกติต้องรีบช่วยเหลือทันที

วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การเลี้ยงสุนัขพันธุ์ชิวาวา ตอนที่ 3




ปัจจัยสำคัญของการเลี้ยงน้องชิ

1. สถานที่
     ผู้ที่คิดจะเลี้ยงสุนัขควรจะมีสถานที่ หรือบริเวณพอที่สุนัขสามารถจะวิ่งเล่นออกกำลังกายได้บ้าง และจัดเป็นสัดส่วน เพื่อปกป้องข้าวของของผู้เลี้ยงเสียหาย เช่น การกัดแทะ การเยี่ยวรดสิ่งของ การอุจจาระไม่เป็นที่เป็นทาง และการลักขโมยของกิน -..-


2. ความพร้อมของเจ้าของ
     เมื่อคิดจะเลี้ยงสุนัขแล้ว เจ้าของทุกๆ ท่านจะต้องมีเวลาให้กับน้องชิด้วย  ซึ่งจะเกี่ยวพันถึงความพร้อมของสถานที่ด้วย ถ้าหากไม่มีพื้นที่ ถ้าจะให้น้องชิของเราได้วิ่งเล่น แต่เรากลับจับน้องชิไปขังไว้ในกรง ทำให้น้องชิกดดัน แล้วจะได้ยินเสียงเห่าหนวกหู ทำให้ละแวกบ้านได้รับความเดือนร้อนไปด้วย และยังส่งผลถึงน้องชิ ทำให้เราไม่สามารถเห็นความน่ารักของน้องชิตามธรรมชาติได้ ทำให้อุปนิสัยผิดไปจากเดิม แต่ถ้าหากมีความต้องการอยากจะเลี้ยงจริงๆ ก็ต้องมีการจัดแจงเวลาให้เหมาะสม เช่น การพาน้องชิออกไปวิ่งเล่นตามสวนสาธารณะต่างๆ


3. ความรัก
     ผู้ที่คิดจะเลี้ยงน้องชิ จะต้องมีความรัก ความจริงใจและเสมอต้นเสมอปลายให้กับน้องชิด้วย บางคนได้ลูกสุนัขมาเลี้ยง เพราะความน่ารัก ในขณะที่ยังเป็นลูกสุนัขจึงนำมาเลี้ยง แต่พอสุนัขเริ่มโตขึ้น ความน่ารักที่ได้มาเหล่านั้นหายไป นิสัยใจคอเปลี่ยนไป รูปร่างโตขึ้นผิดไปจากตอนแรก อาจจะทำให้ความรักที่มีต่อลูกสุนัขตัวเล็กๆ จืดจางลงไป เริ่มไม่สนใจ ปล่อยปะล่ะเลย ดังนั้นผู้ที่คิดจะเลี้ยงน้องชิและสุนัขพันธุ์อื่นๆ จึงควรให้ความรัก ความเอ็นดูความจริงใจกับสุนัขอย่างเสมอต้นเสมอปลายด้วย


4. ความเอาใจใส่
     การเลี้ยงน้องชิจะทำให้ต้องมีภาระเพิ่มขึ้น เช่น ต้องเช็ครอยเท้าที่สกปรกตามพื้นบ้าน ต้องแปรงขน อาบน้ำให้ คอยกำจัดเห็บที่รบกวน หรือต้องคอยสนใจสังเกตว่า น้องชินั้นมีสุขภาพอย่างไร ในเรื่องการขับถ่าย ท้องเสียหรือไม่ กริยาท่าทางร่าเริงหรือหงอยๆ ซึมๆ ไม่สบาย การเดิมไม่ถนัด เป็นแผล หรือขาเคล็ดขาหัก สิ่งที่เราสามารถสังเกตว่าน้องชิไม่สบายแบบง่ายๆ คือจมูก ถ้าหากน้องชิมีจมูกแห้งไม่เป็นมัน และถ้าน้องชิของเรานั้นไปกินหญ้า หรือใบตะไคร้ แสดงว่าน้องชิของเรานั้นมีอาการไม่สบาย ต้องช่วยเหลือห้ามปล่อยไว้เด็ดขาด

วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การเลี้ยงสุนัขพันธุ์ชิวาวา ตอนที่ 2




หาน้องชิมาเลี้ยงสักตัว

     สำหรับผู้ที่กำลังอยู่ในระหว่างการตัดสินใจ ว่าจะซื้อสุนัขพันธุ์ชิวาวามาเลี้ยงดีหรือไม่นั้น มีข้อแนะนำในการซื้อสุนัขพันธุ์ชิวาวานี้ ก่อนอื่นควรเริ่มต้นจากการศึกษามาตรฐานสายพันธุ์ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก สุนัขพันธุ์ชิวาวานั้น อายุโดยเฉลี่ยประมาณ 10 – 15 ปี เพราะฉะนั้นถ้าผู้ที่ไม่ได้ศึกษาทำความเข้าใจมากก่อน อาจต้องเลี้ยงสุนัขที่ไม่เป็นที่ต้องการไปอีก 10 – 15 ปี ในการที่จะเลี้ยงน้องชิได้ดีนั้น ต้องมีความเข้าใจในชีวิตและความเป็นอยู่ของน้องชิ สุนัขทุกตัวต้องการความรัก ความเอาใจใส่ และความเข้าใจจากผู้ที่เป็นเจ้าของด้วย


วัตถุประสงค์ในการเลี้ยง

     ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อสุนัขพันธุ์ชิวาวามาเลี้ยง สำหรับน้องชิถือว่าเป็นสุนัขพันธุ์ที่มีขนาดเล็กเลี้ยงง่าย เห่าไม่เก่ง กินน้อย สามารถเลี้ยงในบ้านที่มีเนื้อที่น้อย เช่น คอนโดมีเนียม อพาร์ทเมนท์ เป็นต้น น้องชิเป็นสุนัขที่รักความสะอาดไม่ต้องใช้เวลาในการดูแลมากนัก ถึงแม้ว่าจะเป็นน้องชิขนยาวก็เพียงแค่อาบน้ำ แปรงขนนิดหน่อยเป็นอันเรียบร้อย นอกจากนี้สุนัขพันธุ์ชิวาวายังเป็นสุนัขที่ฉลาด สามารถฝึกหัดง่าย เชื่อฟังคำสั่ง ขี้เล่น จงรักภักดีต่อเจ้าของมาก จนดูเหมือนกับว่าติดเจ้าของ สุนัขพันธุ์ชิวาวาไม่ชอบอยู่ตัวเดียว เวลานายเดินไปไหนมันจะคอยมองดูเจ้านายของมันให้อยู่ในสายตาตลอดเวลา และที่สำคัญสุนัขพันธุ์ชิวาวามีขนาดที่เล็ก สามารถนำพาไปไหนมาไหนได้สะดวก ถือเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของน้องชิ


     น้องชิ มีข้อควรระมัดระวังอยู่บ้าง คือ สุนัขพันธุ์ชิวาวานี้ไม่ชอบอากาศเย็นและจะมีอาการสั่นเมื่อตื่นเต้นหรือตกใจ ด้วยขนาดที่เล็กและบอบบางจังต้องระวังอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับสุนัข และอีกปัญหาหนึ่งก็คือเวลาน้องชิคลอดตรงที่หัวโตเป็นแอปเปิลแต่ตัวเล็ก จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คลอดยาก ทำให้บางครั้งต้องผ่าออกเพื่อความปลอดภัย ของน้องชิด้วย

     การเลือกสุนัขพันธุ์ชิวาวามาเลี้ยงนั้น คือ ถ้าเป็นลูกสุนัขควรจะมีอายุอย่างน้อย 8 สัปดาห์ สุนัขยิ่งอายุน้อย จะยิ่งเลี้ยงยาก และมีปัญหาในการเลี้ยงมาก แต่ถ้าเป็นลูกสุนัขที่หย่านมแล้วและอายุไม่ต่ำกว่า 2 เดือน จะเลี้ยงง่ายกว่า และโอกาสรอดมีมากกว่า เหมาะสำหรับผู้เริ่มเลี้ยงสุนัข

     ในการเลือกซื้อ ผู้ซื้อควรตัดสินใจด้วยตัวเองมากกว่าจะเชื่อคำโฆษณาของผู้ขาย และควรเลือกสุนัขที่มีสุขภาพดี ไม่เป็นโรค โดยดูจากลักษณะภายนอก ท่าทาง และอารมณ์

วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การเลี้ยงสุนัขพันธุ์ชิวาวา ตอนที่ 1




      ลักษณะทั่วไป : ชิวาวาเป็นสุนัขขนาดเล็กที่มีความฉลาดและจงรักภักดีต่อเจ้าของมาก มีทั้งพันธุ์สั้นและขนยาว ชิวาวาพันธุ์ขนสั้นมีต้นกำเนิดมาจากสุนัขสายพันธุ์ดั้งเดิม ส่วนสายพันธุ์ขนยาวเพิ่งได้รับการพัฒนาขึ้นมาภายหลัง ชิวาวาเป็นสุนัขที่มีโครงสร้างกระชับสมสัดส่วน ดูสง่างาม คล่องแคล่วว่องไวและตื่นตัวตลอดเวลา กะโหลกมีลักษณะกลม ความยาวลำตัวมากกว่าความสูงเล็กน้อย จมูกและปากสั้น ปลายจมูกค่อนข้างแหลม จมูกมีสีเข้มเข้ากับขนลำตัว ใบหูมีขนาดใหญ่ปลายหูค่อนข้างแหลมตั้งขึ้น ตาโต แต่ไม่ยื่นโปนออกมา นัยน์ตามีสีดำสนิท

     นิสัย : ชิวาวาเป็นสุนัขมีความฉลาดและจงรักภักดีต่อเจ้าของมาก  เมื่อเทียบกับสุนัขพันธุ์อื่นๆ โดยปกติมักเป็นสุนัขที่เงียบสงบไม่ค่อยเห่าส่งเสียงรบกวน เว้นแต่จะถูกรบกวนหรือทำตกใจจึงจะเห่า  เพื่อรักษาที่อยู่อาศัยของตัวเอง นอกจากนี้ยังมีนิสัยกล้าหาญ  มักจะยืนหยัดต่อสู้กับสุนัขตัวอื่นๆ ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กกว่า แต่ก็มีอัธยาศัยที่ดีกับสุนัขตัวอื่นหรือสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ


     ขนาด :  ความสูง 16-20 (เซนติเมตร)- น้ำหนักตัว 2.5-2.7 (กิโลกรัม)

     ขน :   ชิวาวาพันธุ์ขนสั้น เส้นขนควรมีลักษณะอ่อนนุ่มและแนบติดกับลำตัวขนเป็นมันแวววาว หากชิวาวาตัวโต จะมีขนขึ้นดกหนากว่าปกติ เพราะมีขนชั้นในด้วยไม่ถือ
ว่าผิดมาตรฐานโดยปกติขนที่บริเวณลำตัวและคอ จะขึ้นหนาแน่นกว่าขนตามส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ส่วนขนที่บริเวณศีรษะและใบหูจะบางกว่าส่วนอื่น
     ชิวาวาพันธุ์ขนยาว เส้นขนควรมีลักษณะอ่อนนุ่ม ขนเหยียดตรง หรือเป็นลอนเล็กน้อย แต่ห้ามหยิก ขนชั้นในจะมีหรือไม่มีก็ได้ ขนที่บริเวณใบหูจะต้องยาว แต่ถ้าขนยาวและดกมากหนาเกินไปจนห้อยปรกลงมาครอบใบหู ควรตัดเล็มออกสำหรับขนที่บริเวณขาอุ้งเท้า และบริเวณด้านหลังของสะโพกควรมีเส้นเล็กบาง ส่วนขนที่บริเวณลำคอและหางควรมีลักษณยาวและฟู




วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ภัยร้ายใกล้ตัวของเจ้าตูบจอมตะกละ


     ผศ.น.สพ.สุวิชา จุฑาเทพ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลายครั้งสิ่งของที่เราวางระเกะระกะในบ้านนั้น พร้อมที่จะเป็นอาวุธร้ายที่จะพรากชีวิตสุนัขไปจากเราได้โดยง่าย โดยเฉพาะสุนัขที่มีนิสัยชอบกินไม่เลือก ไม่ต่างไปจากเด็กเล็กที่ชอบเอาสิ่งโน่นสิ่งนี่มาใส่ปาก จนอาจเผลอกลืนลงไป โดยหารู้ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้น อาจส่งผลร้ายๆ ตามมาในอนาคตอันใกล้ ฉะนั้นการที่เราเสียเวลาอ่านบทความสั้นๆ นี้ อาจจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยชีวิตสุนัขของเราให้รอดพ้นจากภยันตรายนี้ได้

       Q: ของสิ่งใดบ้างที่จะเป็นอันตรายได้เมื่อสุนัขเผลอกลืนลงไป
     A: ทุกสิ่งทุกอย่างครับ ที่มีขนาดใหญ่หรือมีคม จากที่เราพบเห็นเสมอๆ ก็คือกระดูก ไม่ว่าจะเป็นกระดูกหมูชิ้นใหญ่ๆ  หรือชิ้นขนาดพอดีที่จะอุดทางเดินอาหาร (เพราะถ้าใหญ่มากๆ คงจะกลืนไม่เข้า คงได้แต่นอนคุมกันท่าไม่ให้สุนัขตัวอื่นมายุ่ง) กระดูกสันหลังหมูที่มีมุม มีแง่งยื่นออกมาจากไขกระดูก หรือกระดูกไก่ที่พอแตกหักแล้วจะแหลมคมมาก ก็พร้อมที่จะอุดหรือทิ่มแทงหลอดอาหารได้อย่างง่ายดาย แม้กระทั่งชิ้นเนื้อที่เราให้กินนั้น ถ้าชิ้นใหญ่มากๆ แล้วมีเพื่อนสุนัขในบ้านหลายตัวที่จะแย่งกันกิน เจ้าตูบจอมงกก็พร้อมที่จะกลืนลงคอได้โดยทันทีทันใด นอกจากนี้แล้ว ยังมีของอีกหลายอย่างที่จะก่อให้เกิดปัญหาได้ เช่น เบ็ดตกปลาที่ถูกกลืนลงไปพร้อมกับปลา หรือเหยื่อที่เจ้าของเกี่ยวไว้ ก้อนหิน เชือกผูกรองเท้า ไหมขัดฟัน หรือเศษผ้า เศษด้าย เศษไหม ซึ่งเป็นของที่มีลักษณะเป็นเส้นยาว ถุงพลาสติกที่ถูกกลืนกินลงไปพร้อมกับอาหารแสนอร่อย นอกจากนั้นในบ้านที่เต็มไปด้วยต้นไม้ เช่น ต้นมะม่วง ควรเตรียมใจพบเจอปัญหานี้ได้เลย เมื่อเข้าฤดูที่มะม่วงสุกและตกลงโคนต้น แล้วถ้าเจ้าตูบของเรารักจะดำเนินชีวิตในลักษณะของชีวจิต แน่นอนว่าเขาพร้อมที่จะกินไปทั้งเมล็ดได้เลยถ้าผลมะม่วงสุกนั้นทั้งหอมทั้งหวาน

      Q: แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสุนัขเราได้กินสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นเข้าไปแล้ว
    A: ก่อนอื่นสุนัขที่เราเลี้ยงนั้น เจ้าของคงจะต้องรู้นิสัยดีแล้วว่าเขาซน เขาตะกละ หรือเขาแสดงนิสัยกินไม่เลือกหรือเปล่า ถ้าใช่ก็จะต้องเริ่มระแวดระวังสักหน่อย และเมื่อพบว่ามีของบางอย่างในบ้านได้อันตรธานหายไป โดยยังหาจำเลยไม่ได้ ลองสังเกตอาการเจ้าตูบ ที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยดูว่าสุนัขกินอาหารได้อย่างปกติหรือไม่ เขาพยายามใช้สองขาหน้าตะกุย หรือเขี่ยช่องปาก สำรอก หรือการแสดงอาการอาเจียนให้เห็นหรือเปล่า หรือแม้แต่ของที่เขาชอบมากๆ ก็ยังคงส่ายหัวปฏิเสธ ถ้าเจ้าของปล่อยทิ้งไว้นานเกินไป (บางท่านรู้เมื่อเวลาผ่านไปเป็นสัปดาห์ก็มี) ปัญหาที่ตามมาอาจรุนแรงมากขึ้นได้ โดยเฉพาะในรายที่สุนัขมีน้ำหนักตัวลดลงมาก  หรือแสดงอาการปวดท้องรุนแรง  แต่ในรายที่เจ้าของเห็นเหตุการณ์ต่อหน้า เช่น ในรายที่ตับปิ้งหอมๆ ทั้งไม้เสียบ ถูกกลืนลงไปต่อหน้าต่อตา หรือกระโดดกินปลาพร้อมเบ็ดลงไป แล้วยังมีสายเบ็ดคาอยู่ที่มุมปาก ก็หมดข้อกังขาได้เลยว่าเจ้าตูบได้ก่อปัญหาให้กับตัวเองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

       Q: ถ้าพบว่าสุนัขเรากินสิ่งแปลกปลอมเข้าไป หรือเพียงแต่สงสัยจะทำอย่างไรดี
   A: ในกรณีที่ฉุกเฉิน เช่น สงสัยว่าสิ่งแปลกปลอมอุดตันเข้าไปในส่วนของหลอดลม ก็มีความจำเป็นต้องวิ่งไปโรงพยาบาลสัตว์ที่ใกล้บ้านโดยไว เพราะถ้าทางเดินหายใจถูกปิดกั้น นับว่าเป็นอันตรายรุนแรง ส่วนในกรณีที่เป็นเบ็ดตกปลาที่ยังมีสายเบ็ดยื่นออกมาจากปาก ให้เจ้าของตัดสายเบ็ดให้ยาวออกมาจากปากประมาณ 1 คืบ เพื่อช่วยสัตวแพทย์ให้ทำการเอาออกได้ง่ายขึ้น ส่วนกรณีอื่นๆ เจ้าของควรพามาพบสัตวแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะหากทิ้งไว้นาน จะนำมาซึ่งผลเสียที่รุนแรงได้ เช่น การเกิดหลอดอาหารโป่งพอง หรือฉีกขาดได้จากการอุดตันนานๆ หรือลำไส้ทะลุได้ หากสิ่งแปลกปลอมมีความคม โดยเฉพาะไม้เสียบลูกชิ้น ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานอาจทะลุผ่านกระเพาะอาหารไปทิ่มและฝังอยู่ในกลีบตับได้ และข้อที่ต้องคำนึงมากที่สุดคือ งดการให้อาหารหลังประสบเหตุทันที เพราะจะช่วยลดโอกาสการรั่วของอาหารหรือน้ำ ผ่านออกมาจากทางเดินอาหารได้ รวมถึงจะช่วยลดความเสี่ยงจากการสำลักจากการวางยาซึม หรือยาสลบได้ ในกรณีที่สัตวแพทย์จำเป็นต้องวางยา เพื่อช่วยเหลือ

        Q: แล้วสัตวแพทย์จะชี้ชัดได้อย่างไร ว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตัวสุนัขเราจริงๆ
    A: อันดับแรกคงอยู่ที่การซักถามและสอบประวัติ รวมถึงคำยืนยันของเจ้าของซึ่งเปรียบเหมือนเป็นพยานปากเอกที่สำคัญ จากนั้นเป็นการตรวจร่างกาย โดยการเปิดปากสำรวจในช่องปาก หรือคอส่วนต้น หรือกระทั่งการคลำตรวจในช่องท้องก็สามารถเป็นอีกวิธีในการตรวจหาได้เช่นกัน จากนั้นถ้ามีข้อสงสัยต่อเนื่องก็คงต้องอาศัยวิธีทางรังสีวิทยา หรือทางการใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ช่วยวินิจฉัยต่อเนื่องได้ โดยหากสิ่งแปลกปลอมเป็นกระดูก ก้อนหิน หรือสิ่งของที่มีส่วนประกอบเป็นโลหะ ก็จะง่ายต่อการมองเห็นจากภาพถ่ายทางรังสีวิทยา แต่ถ้าเป็นเศษพลาสติก เศษผ้า เศษด้าย ไม้ เมล็ดมะม่วง เมล็ดทุเรียน ก็อาจมีความจำเป็นจะต้องนำเทคนิคพิเศษทางรังสีวิทยามาช่วย เช่น การให้สัตว์กลืนสารทึบรังสี หรือที่เราเรียกว่ากลืนแป้งเข้าไป เพื่อช่วยให้แป้งเข้าไปเคลือบสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้น ทำให้เรามองเห็นได้ง่ายขึ้นได้จากภาพถ่ายรังสี รวมทั้งถ้ามีการอุดตันก็จะพบได้ว่าแป้งที่กลืนนั้นจะสะสมอยู่บริเวณส่วนหน้าที่มีการอุดตันได้อย่างชัดเจน แต่ถ้าโชคร้ายในกรณีที่มีการทะลุเข้าช่องท้อง ก็จะพบว่ามีสารทึบรังสีแพร่กระจายออกมาจากทางเดินอาหารได้อย่างชัดเจน แต่ถ้าในบางโรงพยาบาลสัตว์ที่มีเครื่องอัลตร้าซาวด์ ก็สามารถใช้อุปกรณ์นี้ในการช่วยวินิจฉัยได้ โดยการสแกนดูความผิดปกติภายในบริเวณทางเดินอาหารที่สงสัยว่ามีการอุดตันเกิดขึ้นหลังจากวินิจฉัยจากภาพถ่ายทางรังสีแล้ว

       Q: ถ้าพบว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในทางเดินอาหารสุนัขเราแล้ว จะมีหนทางใดเอาออกได้บ้าง
     A: คือต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่า อะไรคือสิ่งแปลกปลอม ขนาด และลักษณะเป็นอย่างไร ติดอยู่บริเวณใด ติดมานานแค่ไหน สภาพของสัตว์ป่วยว่าดูปกติอยู่ หรือโทรม อ่อนแรงอย่างหนัก ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยในการพิจารณาหาทางเลือก และทางออกให้กับปัญหานี้ ทั้งนี้ยังไม่รวมไปถึงอุปกรณ์และเครื่องมือที่คลินิก หรือโรงพยาบาลสัตว์นั้นๆ จะพึงมี ถ้าเช่นนั้นขอยกตัวอย่างเป็นกรณีไปละกันนะครับ
     - ถ้าเป็นการติดของกระดูกก้างปลา หรือแม้กระทั่งเข็มเย็บผ้า ที่ติดอยู่ในช่องปาก แล้วเป็นสุนัขใจดีไม่ดุ ก็จะง่ายต่อการเปิดปาก แล้วเอาอุปกรณ์คีบเอาออกได้โดยง่าย  แต่ทั้งนี้ก่อนจะคีบออก สัตวแพทย์ผู้แก้ไขสามารถจะเลือกใช้ยาลดปวด หรือยาซึมกับสุนัขก่อนจะลงมือ เพื่อช่วยให้สุนัขสงบลง และลดความเจ็บปวดเสียก่อนได้
     - ถ้าเป็นการติดของกระดูกสันหลังหมู กระดูกไก่ หรือเบ็ดตกปลา ในหลอดอาหารที่ลึกเข้าไปจากช่องปาก กรณีนี้การตรวจวินิจฉัยอาจจำเป็นต้องรวมไปถึง การตรวจสอบการฉีกขาดของหลอดอาหารเสียก่อน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่ค่อยพบการฉีกขาด เพราะหลอดอาหารค่อนข้างมีความยืดหยุ่นสูง ส่วนของการแก้ไขก็สามารถทำได้โดยการส่องกล้องเข้าไป เเล้วค่อยๆ คีบออกมา ทั้งนี้บริเวณของหลอดอาหารที่มักจะพบว่ามีการอุดตันมักอยู่บริเวณหลอดอาหารส่วนท้ายก่อนที่จะผ่านเข้าไปในกระเพาะ เพราะไม่สามารถผ่านหูรูดก่อนเข้ากระเพาะส่วนต้น ปัญหาใหญ่จะเกิดได้เมื่อไหร่ที่ไม่สามารถคีบออกหรือดันลงไปในกระเพาะได้ หรือมีการฉีกขาดของหลอดอาหาร ทำให้เศษอาหารหลุดเข้าไปในช่องอก สัตวแพทย์ก็มีความจำเป็นต้องทำการผ่าตัดเปิดช่องอก เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวในลำดับถัดไป ทั้งนี้การผ่าตัดช่องอกจำเป็นต้องอาศัยทีมศัลยสัตวแพทย์ และอุปกรณ์เพิ่มเติม การจะลงมือผ่าตัด ดังนั้นสัตวแพทย์ทุกท่านที่จะแก้ไข มักจะทำการเตรียมพร้อมสำหรับแผนสองนี้อยู่แล้ว และการคุยชี้แจงกับเจ้าของล่วงหน้า จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์เลวร้ายที่สุนัขประสบอยู่
     - ถ้าเป็นสิ่งแปลกปลอมชิ้นไม่ใหญ่ไม่เล็กและไม่มีขอบคม เช่น ก้อนหิน ลูกแก้ว หรือแม้กระทั่งกระดูกหมูที่ติดอยู่ในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้ สัตวแพทย์จะพิจารณาว่าของเหล่านั้น  มีแนวโน้มว่าจะก่อให้เกิดปัญหาการอุดตันหรือไม่ จากการตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยา หรืออัลตร้าซาวนด์ ถ้าไม่มีปัญหาการอุดตัน การรอคอย หรือให้เวลากับสุนัขก็เป็นทางเลือกที่เปิดรออยู่  โดยหลายครั้งก็พบว่าสุนัขสามารถขับถ่ายออกมาได้เองตามปกติ   ทั้งนี้สัตวแพทย์บางท่านอาจพิจารณาให้ยาระบายอ่อนๆ มาช่วยให้สุนัขขับถ่ายออกมาได้คล่องขึ้นได้ แต่หากเป็นสิ่งแปลกปลอมที่มีแนวโน้มของการอุดตันที่กระเพาะอาหาร การใช้กล้องส่องตรวจเพื่อคีบออกมา ก็มักจะเป็นทางเลือกแรก แต่หากไม่สำเร็จการเปิดผ่าช่องท้องก็อาจจะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่สัตวแพทย์มักจะต้องคุยกับเจ้าของก่อนจะทำการแก้ไข
     - ถ้าเป็นสิ่งแปลกปลอมจำพวกไม้เสียบลูกชิ้น เข็มเย็บผ้า หรือสิ่งแปลกปลอมที่มีคมแล้วสุนัขสามารถกลืนผ่านเข้าไปในกระเพาะอาหารได้ ทางเลือกในการแก้ไขก็อาจลดน้อยลง เพราะการรอคอยให้สุนัขขับถ่ายออกเองก็เป็นไปได้ยาก (แต่ทั้งนี้ก็เคยมีสุนัขพันธุ์ใหญ่ที่สามารถขับถ่ายไม้เสียบลูกชิ้น ขนาดยาวประมาณ 10 ซม. ออกทางก้นได้เช่นกัน) รวมถึงโอกาสที่จะเกิดการทะลุออกมานอกทางเดินอาหารก็เป็นไปได้สูง โดยการทิ่มทะลุของเศษไม้ หรือเข็มออกมาทิ่มในเนื้อตับ ซึ่งอยู่ชิดกับกระเพาะก็พบได้บ่อยเช่นกัน ดังตัวอย่างในประเทศเมืองหนาวจะพบว่าเมื่อฤดูร้อนเริ่มต้นการออกมาทำบาร์บีคิวเป็นที่นิยม นั่นเองคือจุดเริ่มของงานที่เข้ามาหาสัตวแพทย์ โดยเฉพาะเจ้าของที่มีสุนัขที่ชอบกระชากไม้ปิ้งบาร์บีคิวไปกินทั้งอันหรือเจ้าของที่เผลอให้กินทั้งไม้ ก็มักจะพบว่ามักจะไปจบอยู่ที่โรงพยาบาลสัตว์ โดยหลายครั้งพบว่าไม้เสียบบาร์บีคิว (ถ้าเมืองไทยก็ไม้เสียบลูกชิ้น) จะทิ่มทะลุกระเพาะผ่านผิวหนังออกมา อันนี้เจ้าของสามารถเห็นได้กับตา เเต่หลายครั้งพบว่าเจ้าของเองไม่รู้ถึงปัญหาเลย ตราบจนไม้เสียบบาร์บีคิวทิ่มทะลุกระเพาะแล้วไปคาอยู่ที่ตับกระทั่งสุนัขแสดงอาการเจ็บท้องอย่างรุนแรงเเล้ว โดยบางรายอาจถูกทิ้งไว้จนกระทั่งเกิดสภาวะผนังช่องท้องอักเสบรุนแรงได้
     - ถ้าเป็นสิ่งแปลกปลอม จำพวกก้อนหินจัดสวนก้อนใหญ่ เมล็ดทุเรียน (ช่วงเมษายนถึงมิถุนายน) เมล็ดมะม่วง (ตลอดทั้งปีโดยเฉพาะมะม่วงสามฤดู) อุดตันในลำไส้ โดยมักจะติดคาอยู่ในลำไส้เล็ก ก็อาจมีความจำเป็นต้องผ่าตัดเปิดช่องท้องเพื่อเปิดลำไส้ แล้วเอาสิ่งแปลกปลอมนั้นออกมา โดยส่วนใหญ่แล้วสุนัขมักจะแสดงอาการปวดท้องรุนแรง และไม่ค่อยกินอาหาร เนื่องจากในกรณีนี้เจ้าของมักจะสังเกตเห็นได้ยาก เพียงแต่สุนัขจะค่อยๆ แสดงอาการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนบางครั้งอาจเข้าใจผิดว่าสุนัขป่วยด้วยโรคอื่นไป
     - ถ้าเป็นสิ่งแปลกปลอมจำพวกผ้า หรือพลาสติกที่เป็นเส้นๆ เช่น เชือกผูกรองเท้า เชือกด้าย หรือกระทั่งไหมขัดฟัน ซึ่งหลายครั้งพบว่ามีการติดอยู่บริเวณลำไส้เล็ก และสุนัขมักจะแสดงอาการป่วยเมื่อเวลาผ่านไปนานแล้ว โดยการวินิจฉัยมักทำได้ยากเพราะสิ่งของเหล่านี้จะไม่ปรากฎขึ้นบนภาพถ่ายรังสี หากแต่ต้องอาศัยการกลืนแป้งช่วย แต่กระนั้นหลายครั้งการชี้ชัดถึงการอุดตันมักทำได้ไม่ง่ายนัก ในกรณีนี้การแก้ไขจำเป็นต้องทำการผ่าตัดสถานเดียว และโอกาสที่จะพบการเสียหาย หรือการตายของลำไส้มีสูงจึงมักพบได้ว่าสุนัขต้องถูกตัดต่อลำไส้อยู่เป็นประจำ

       Q: หลังทำการผ่าตัดแก้ไขแล้ว ควรดูแลสุนัขอย่างไร
     A: หลังผ่าตัดสัตวแพทย์มักแนะนำเจ้าของ ให้ฝากสุนัขพักฟื้นในโรงพยาบาลสัตว์ก่อน เนื่องจากในช่วง 2-3 วันแรกนั้น มีความจำเป็นต้องถูกงดอาหารก่อน โดยรอยแผลของทางเดินอาหารจำเป็นต้องใช้เวลาในการหาย แต่สำหรับน้ำนั้นเราสามารถให้กินได้ในปริมาณน้อยมากๆ พอให้ปากสุนัขไม่แห้งจนเกินไป เพราะถ้างดน้ำไปทั้งหมดเลย  อาจทำให้สุนัขมีการหลั่งน้ำลายออกมามากกว่าปกติ ก็สามารถทำให้บาดแผลในทางเดินอาหารสัมผัสกับน้ำลาย  แล้วเกิดการอักเสบเพิ่มมากขึ้นได้

     Q: เมื่อการอุดตัน หรือติดค้างของสิ่งแปลกปลอมสามารถสร้างปัญหาได้มากถึงเพียงนี้ เราจะมีวิธีการใด ที่ช่วยป้องกันไม่ให้เจ้าตูบจอมซนกลับไปกินของเหล่านี้ได้อีก
     A: สิ่งสำคัญที่เจ้าของสามารถกระทำได้ คือพยายามเก็บของใช้ในบ้านให้เป็นที่เป็นทาง ไม่เปิดโอกาสให้สุนัขไปแทะ หรือกินสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นได้ รวมถึงการให้อาหารก็ควรฉีกหรือแกะออกจากภาชนะ หรือไม้เสียบเสียก่อนจะยื่นให้สุนัขได้กิน รวมทั้งอาจต้องมีการฝึกวินัยสุนัขเสียตั้งแต่ตัวยังเล็กๆ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ให้ได้   เมื่อเราได้ทราบถึงความน่ากลัวจากการกินสิ่งแปลกปลอมใกล้ตัวไปแล้วนั้น ผู้เลี้ยงสุนัขควรคำนึงถึงการป้องกันมากกว่าการแก้ไขหลังเกิดปัญหา  สุนัขที่เราเลี้ยงจะได้ไม่ต้องเผชิญกับความเจ็บปวด  ทั้งอันเนื่องมาจากการอุดตัน เเละฉีกขาดของทางเดินอาหาร หรือกระทั่งความเจ็บปวด  อันเนื่องมาจากการถูกผ่าตัดแก้ไข ทั้งนี้การมีสุนัขอยู่ในบ้าน  ก็คงไม่ต่างอะไรมากนักกับการมีเด็กอยู่เช่นกัน ฉะนั้นการดูแลเอาใจใส่ สังเกตความผิดปกติของสุนัข ก็นับได้ว่าเป็นความรับผิดชอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของเจ้าของทุกท่าน